Archive | กรกฎาคม, 2010

อุดม สมพร

30 ก.ค.
นายอุดม สมพร เกิดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2485 ที่บ้านเลขที่ 46 บ้านไร่ต้นมะม่วง(หมู่ 13 เดิม) ต.คูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี เป็นบุตรนายเนียมและนางชวา สมพร สมรสกับ น.ส.มะลิ เอื้อนอาจ มีบุตรสาว จำนวน 2 คน
ใน ด้านการศึกษา ท่านเข้ารับการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนแคทราย ต.คูบัว อ.เมืองราชบุรี ในปี พ.ศ.2494 เข้ารับการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ อ.เมืองราชบุรี ในปี พ.ศ.2498 เข้ารับการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาที่โรงเรียนฝึกหัดครู เพชรบุรี ในปี พ.ศ.2506 เข้ารับการศึกษาระดับปริญญาครุศาสตร์บัณฑิต ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2515 และเข้ารับการศึกษาระดับปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิตที่จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2518
ผลงานที่ท่านได้สร้างสรรค์เพื่อการอนุรักษ์มรดกไทยมีมากมายหลายประการด้วยกันที่สำคัญ ได้แก่
  • เป็น ผู้ดำเนินการโครงการสร้างศูนย์สืบทอดศิลปผ้าจกราชบุรีขึ้นที่บริเวณวัดแค ทราย ต.คูบัว อ.เมืองราชบุรี เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ 5 ธันวาคม 2530 โดยใช้เป็นสถานที่ฝึกหัดทอผ้าจกและศูนย์วิชาการเกี่ยวกับผ้าจก ตลอดจนเป็นสถานที่สำหรับศึกษาค้นคว้าภูมิปัญญาด้านศิลปหัตถกรรมเกี่ยวกับผ้า จก ที่เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมล้ำค่าของชาวไทยวนใน จ.ราชบุรี
  • เป็น ผู้ร่วมจัดตั้งศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านราชบุรี ขึ้น จำนวน 3 แห่ง คือ ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านราชบุรี หน่วยที่ 1 วัดคูบัว ต.คูบัว อ.เมืองราชบุรี ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านราชบุรี หน่วยที่ 2 วัดนาหนอง ต.ดอนแร่ อ.เมืองราชบุรี ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านราชบุรี หน่วยที่ 3 วัดรางบัว ต.รางบัว อ.จอมบึง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถานที่ฝึกหัดทอผ้าจก และจำหน่ายศิลปหัตถกรรมเกี่ยวกับผ้าจกให้แก่ผู้ที่สนใจทั่วไป
  • เป็น ผู้ร่วมจัดกิจกรรมฟื้นฟูศิลปผ้าจกไทยวนราชบุรี ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ทั้งใน จ.ราชบุรีและจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน
  • เป็น ผู้จัดทำหลักสูตรการศึกษาวิชาชีพตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พ.ศ.2538 ประเภทวิชาศิลป สาขาศิลปหัตถกรรม ให้แก่กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นให้แก่วิทยาลัยสารพัดช่างราชบุรี
  • เป็นผู้จัดทำสื่อการเรียนการสอนการฝึกหัดทอผ้าจกด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ (HAND-HI-TECH) ให้แก่นักเรียนทอผ้าระบบทวิภาคี
  • เป็นผู้จัดตั้งกลุ่มผู้สนใจวิชาชีพทอผ้าจกเพื่ออนุรักษ์ศิลปผ้าจกและพัฒนาอาชีพเสริมให้แก่ประชาชนใน จ.ราชบุรี
  • เป็นผู้สร้างกี่ทอผ้าพุ่งกระสวยด้วยมือที่ใหญ่ที่สุดในโลกไว้ในศูนย์สืบทอดศิลปผ้าจกราชบุรี
  • เป็นผู้จัดให้มีการทอผ้าจกรวมลายใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อมอบให้จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี
  • เป็น ผู้จัดให้มีการทอผ้าจกรวมลาย “จกภูษา กาญจนาภิเษก” เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระยาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสครองราชย์เป็นปีที่ 50 พ.ศ.2539

เกียรติคุณและรางวัลที่ท่านได้รับเกี่ยวกับงานด้านการอนุรักษ์มรดกไทย ที่สำคัญ ได้แก่

  • ใน ปี พ.ศ.2529 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของชมรมราชบุรีสมุนไพรในโครงการตามพระ ราชดำริสวนป่าสมุนไพรในโครงการตามพระราชดำริสวนป่าสมุนไพร
  • ใน ปี พ.ศ.2533 ได้รับประกาศนียบัตรขอบคุณในฐานะผู้มีอุปการะคุณจากสถาบันวัฒนธรรมภูมิภาค ตะวันตก มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับรางวัลพระราชทานที่ 1 ประเภทผ้าไหมลายพื้นบ้าน ในการประกวดที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา
  • ในปี พ.ศ.2534 ได้รับประกาศเกียรรติคุณจากกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะที่มีส่วนร่วมในการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมของชาวไทยยวนราชบุรี
  • ใน ปี พ.ศ.2536 ได้รับรางวัลชนะเลิศประกวดผ้าซิ่นตีนจก จากคณะกรรมการจัดงานวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จ.ราชบุรี ได้รับประกาศเกียรติคุณ ยกย่องเป็นนักอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่นระดับชาติ ประจำปี พ.ศ.2536 จากคณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย ในฐานะผู้มีผลงานการสนับสนุนส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกไทย และได้รับพระราชทานรางวัลดีเด่นในการประกวดผ้าประเภทที่ 1 ผ้าโบราณ และรางวัลชมเชยในการประกวดผ้าประเภทที่ 2 ผ้าตีนจก จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 12 สิงหาคม 2536
  • ใน ปี พ.ศ.2537 ได้รับเกียรติบัตรจากกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะครูอาจารย์ผู้ปฏฺบัติหน้าที่เพื่อการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ไทยให้แก่เยาวชนในรูปแบบกิจกรรมต่างๆ ให้แก่องค์การช่างเทคนิคในอนาคตแห่งประเทศไทย
  • ใน ปี พ.ศ.2541 ได้รับการประกาศเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาล สาขาศฺลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับผ้าเป็นบุคคลแรกของสาขา ทะเบียนเลขที่ 31/2541 และได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรีให้เป็นบุคคลดีเด่นของชาติ ประจำปี 2541 สาขาเผยแพร่เกียรติภูมิคนไทย ด้านอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งได้เข้ารับพระราชทานประกาศเกียรติคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2543 และได้เข้ารับโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจากนายกรัฐมนตรี (นายชวน หลีกภัย) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2543

หนังตะลุง

30 ก.ค.
นอกจากจะถือ ว่าหนังตะลุงเป็นเรื่องบันเทิงใจอย่างมหรสพทั่วๆ ไปแล้ว ยังมีความเชื่อทางไสยศาสตร์ปะปนอยู่ด้วยหลายประการ ซึ่งจะประมวลเป็นข้อๆ ต่อไปนี้คือ
1. ความเชื่อเกี่ยวกับครูหมอ ครูหมอคือบูรพาจารย์และบรรพบุรุษที่นายหนังแต่ละคนสืบเชื้อสายมา โดยเชื่อว่าครูเหล่านั้นยังห่วงใจผูกพันกับนายหนัง หากนายหนังบูชาเซ่นพลีตามโอกาสอันควร ครูหมอก็จะให้คุณ แต่หากละเลยก็อาจให้โทษได้ หนังตะลุงแทบทุกคนจึงมักตั้ง ตั้งหิ้ง (ชั้นไม้ขนาดเล็ก แขวนไว้ข้างฝาในที่สูง) ให้เป็นที่สถิตของครู ปักธูปเทียนบูชาและจะมีพิธีไหว้ครูเป็นระยะๆ เช่น 3 ปีต่อครั้ง ปีละครั้งเป็นต้น ทั้งนี้แล้วแต่จะตกลงกับครูไว้อย่างไร
2. ความเชื่อเกี่ยวกับรูปหนัง เชื่อว่ารูปทุกตัวที่ผูกไม้ตับ ผูกมือ เบิกปาก เบิกตา ชุบร่าง แล้วย่อมมีอาถรรพณ์ผู้ใดเล่นด้วยความไม่เคารพย่อมไม่เกิดมงคลแก่ตน อีกประการหนึ่งรูปแต่ละประเภทมีศักดิ์ไม่เท่ากัน การจัดเก็บต้องเป็นระเบียบ เป็นหมวดหมู่ และต้องเอารูปที่มีศักดิ์สูงไว้บนเสมอ
นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับ รูปศักดิ์สิทธิ์ การทำรูปชนิดนี้ต้องเลือกหนังสัตว์ที่ตายไม่ปรกติ เช่น ถูกฟ้าผ่าตาย คลอดลูกตาย และหากเลือกชนิดสัตว์ได้เหมาะกับรูปก็ยิ่งจะทำให้ขลัง เช่น รูปตลกทำด้วยหนังหมี รูปฤาษีทำด้วยหนังเสือ เป็นต้น
3. ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเดินทาง ก่อนออกเดินทางต้องทำพิธี ยกเครื่อง โดยประโคมดนตรีอย่างสั้นๆ นายหนังบอกกล่าวขอความสวัสดีจากครูหมอ ขณะเดินทางถ้าผ่านสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หรือวัดวาอารามเก่าๆ จะหยุดประโคมดนตรีถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ ที่นั้น เมื่อถึงบ้านเจ้าภาพจะว่าคาถา ทักเจ้าบ้าน (ทักทายเจ้าที่รักษาบ้าน) แล้วประโคมดนตรีสั้นๆ เรียกว่า ตั้งเครื่อง (บางคณะอาจตั้งเครื่องก่อนทำพิธีเบิกโรงก็ได้)
4. ความเชื่ออื่นๆ ซึ่งมักเป็นเรื่องไสยศาสตร์ที่ทำเพื่อป้องกันปัดเป่าเสนียดจัญไร ขอความสวัสดีมีชัย สร้างเมตตามหานิยม เช่น ก่อนขึ้นโรงดินเวียนโรงทำพิธีปัดเสนียด ผูกหนวดราม (เชือกผูกจอ) เส้นสุดท้ายพร้อมว่าคาถาผูกใจคน เป็นต้น
ความเชื่อของหนังตะลุงมีมาก ในอดีตถือว่าไสยศาสตร์เป็นสิ่งที่นายหนังต้องเรียนรู้ แสดงหนังได้ดีเพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องรอบรู้ไสยศาสตร์อย่างดีด้วยจึงจะเอาตัวรอด แต่ปัจจุบันไม่ค่อยเคร่งครัดในเรื่องนี้เท่าใดนัก

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

28 ก.ค.

พระราชกรณียกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ คือการเสด็จ พระราชดำเนินตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทรงเยี่ยมราษฎรในทุกแห่งหน ทั่วทุกภาคของประเทศไทยพระราชกรณียกิจนี้ ได้ทรงปฏิบัติติดต่อกันมานานนับเป็นระยะเวลาหลายสิบปีแล้ว จึงทำให้ทรงเห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของราษฎรว่ามีความทุกข์สุขอย่างไร ที่ทรงเป็นห่วงมากก็คือ ความยากจนของราษฎรจึงทรงมีพระราชประสงค์จะจัดหาอาชีพให้ราษฎรทำ เพื่อเพิ่มพูนรายได้ให้เพียงพอแก่การยังชีพ ในภาวะปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงสนพระทัยในงานฝีมือพื้นบ้าน หรือศิลปกรรมพื้นบ้าน ที่จัดทำขึ้นโดยใช้วัสดุในท้องถิ่นมาก พระองค์จึงส่งเสริมในเรื่องนี้โดยการจัดให้มีครูออกไปฝึกสอนราษฎร

เป็นการช่วยปรับปรุงคุณภาพ ของงานให้ดียิ่งขึ้น เมื่อราษฎรมีความชำนาญแล้วผลงานที่ผลิตออกมา ก็จะทรง รับซื้อไว้ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซึ่งงานนี้ต่อมาได้ขยายออกเป็น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2519 และได้ทรงจัดตั้งโรงฝึกอบรมศิลปาชีพขึ้นแห่งแรกที่พระตำหนักสวนจิตรลดา.ในวันฉัตรมงคลปี 2523 สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯให้นาย
ธานินทร์ กรัยวิเชียร รองประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ สรรหาที่ดินที่ใกล้เคียงกับพระราชวังบางปะอินเพื่อจัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพอีกแห่งหนึ่ง นายธานินทร์ กรัยวิเชียร จัดหาที่ดินได้ 2 แปลง เป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้รัฐบาลจัดการปฏิรูปที่ดินเพื่อให้ราษฎรผู้ยากไร้ได้มีที่อยู่และทำมาหากินตามอัตภาพ แปลงหนึ่งอยู่ที่อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก อีกแปลงหนึ่งอยู่ที่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์
ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรที่ดินแปลงที่อยู่ที่อำเภอบางไทรด้วยพระองค์เอง ซึ่งที่ดินแปลงนี้มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 750ไร่เศษ และทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าสมควรจะสร้างศูนย์ศิลปาชีพ ณ ที่นี้ วันที่ 3 มิถุนายน 2523 รัฐบาลได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินแปลงนี้แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 4 รอบ และรัฐบาลยังได้มีมติให้หน่วยราชการต่าง ๆ สนับสนุนโครงการของศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงจัดตั้งขึ้นโดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นผู้รับผิดชอบในด้านการดูแล
สถานที่และการฝึกอบรม และมีหน่วยทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ มาช่วยดูแลในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย และประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการจัดฝึกอบรมศิลปาชีพเรื่อยมา และมีการซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีก 200 ไร่เศษ รวมเป็นเนื้อที่ของศูนย์ฯ ทั้งหมดเกือบ 1,000 ไร่ในปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จ พระราชดำเนินเปิดศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2527

การสานปลาตะเพียน

25 ก.ค.

ความเป็นมาของปลาตะเพียนใบลาน
การสานปลาตะเพียนใบลานเป็นอาชีพเก่าแก่ที่ทำสืบต่อกันมาตั้งแต่ บรรพบุรุษนานกว่า 100 ปี โดยสันนิษฐานว่าชาวไทยมุสลิมซึ่งล่องเรือขายเครื่องเทศอยู่ตามแม่น้ำเจ้า พระยาและอาศัยอยู่ในเรือเป็นผู้ประดิษฐ์ปลาตะเพียนสานด้วยใบลานขึ้นเป็น ครั้งแรก แรงบันดาลใจอาจจะมาจากความรู้สึกผูกพันอยู่กับท้องน้ำ สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวและความคุ้นเคยกับรูปร่างหน้าตาของปลาตะเพียนเป็นอย่างดี โดยใช้วัสดุจากท้องถิ่น เช่น ใบมะพร้าว ใบลาน ใบตาล ปลาตะเพียนที่สานด้วยใบลานในสมัยก่อนนั้นไม่สวยงามและมีขนาดใหญ่โตเช่น ปัจจุบันนี้ ปลาตะเพียนรุ่นแรกที่สร้างขึ้นเรียกว่า “ปลาโบราณ” โดยจะทำเป็นตัวปลาขนาดเล็กๆ ขนาด 1-3 ตัวเท่านั้น ปลาตะเพียนใบลานมักทาด้วยสีเหลืองซีดๆ ที่ทำด้วยวัตถุดิบตามธรรมชาติที่เรียกว่า “รงค์” ผสมกับน้ำมันวานิช แล้วนำไปเสียบไม้สำหรับห้อยแขวนเลยและปลาตะเพียนใบลานในสมัยก่อนยังมีจำนวน น้อยมากถ้าเทียบกับปัจจุบัน

ปลาตะเพียน

ปลาตะเพียนใบลานกับความเชื่อ

ปลาตะเพียนใบลานเป็นงานหัตถศิลป์ฝีมือชาวมุสลิมในท้องที่ท่า วาสุกรี บ้านหัวแหลมที่อยู่คู่อยุธยามาเป็นเวลาร่วมร้อยปีจนถึงวันนี้ ก็ยังนับได้ว่าอยุธยาเป็นแหล่งผลิตปลาตะเพียนสานใบลานใหญ่ที่สุดในประเทศคน ไทยคุ้นเคยและใกล้ชิดกับปลาตะเพียนมานานแล้วและสมัยก่อนเชื่อกันว่าปลา ตะเพียนเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ เพราะช่วงที่ปลาโตเต็มที่กินได้อร่อยเป็นช่วงที่ข้าวตกรวงพร้อมเก็บเกี่ยวพอ ดีเรียกว่าเป็นช่วง “ข้าวใหม่ปลามัน” ด้วยความเชื่อในเรื่องดังกล่าว จึงมีผู้นิยมนำใบลานแห้งมาสานขดกันเป็นปลาตะเพียนจำลองขนาดต่างๆ แล้วผูกเป็นพวงๆ แขวนไว้เหนือเปลนอนของเด็กอ่อนเพื่อให้เด็กดูเล่น และถือเป็นสิ่งมงคลสำหรับเด็ก เท่ากับอวยพรให้เด็กเจริญเติบโตมีฐานะมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ดุจปลาตะเพียนใน ฤดูข้าวตกรวง บ้างก็มีความเชื่อว่า ปลาตะเพียนเป็นสิ่งสิริมงคล ทำให้เงินทองไหลมาเทมา บ้างก็ว่า หากบ้านไหนแขวนปลาตะเพียนไว้หน้าบ้านจะทำให้บ้านนั้นมั่งมีศรีสุข ทำมาค้าขึ้น นอกจากนี้ปลาตะเพียนยังมีนัยยะที่บ่งบอกถึงเรื่องความขยันหมั่นเพียรอีกด้วย ปลาตะเพียนสานเป็นเครื่องแขวนที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนสำคัญ 6 ชิ้นคือ กระโจม แม่ปลา กระทงเกลือ ปักเป้า ใบโพธิ์ และลูกปลา มี 2 ชนิด คือ ชนิดที่เขียนเป็นลวดลายตกแต่งสวยงามสำหรับแขวนเหนือเปลลูกผู้มีบรรดาศักดิ์ และ ชนิดเป็นสีใบลานเรียบๆ ไม่มีการตกแต่งอย่างใดใช้แขวนเหนือเปลลูกชาวบ้านธรรมดาสามัญ ปลาตะเพียนใบลานที่มีลวดลายสีสันต่างๆ อย่างที่เห็นในปัจจุบัน เป็นปลาตะเพียนที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 สืบทราบได้เป็นเลาๆ ว่าหลวงโยธาฯ ข้าราชการเกษียณผู้มีนิวาสสถานอยู่ใกล้สะพานหัน ตำบลวังบูรพา กรุงเทพฯ เป็นผู้ประดิษฐ์คิดทำให้สวยงามขึ้น แล้วนำออกจำหน่ายตามงานวัดต่างๆ นับแต่นั้นมาคนก็หันมานิยมปลาตะเพียนสานกันมากขึ้น ปัจจุบันความนิยมการสานปลาตะเพียนไปแขวนเปลให้เด็กอ่อนอาจจะเหลือน้อยมากแต่ กลายเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนและสร้างรายได้ให้ครอบครัวได้เป็นอย่างดี

การสานปลาตะเพียน

ขั้นตอนการสานปลาตะเพียน
1. นำใบลานมาตัดเป็นเส้นยาว จำนวน 2 เส้น
2. นำใบลานเส้นที่ 1 มาพันมือ 2 รอบ
3. นำใบลานหั่นได้แล้วดึงมือที่พันออก ใช้มืออีกข้างหนึ่งจับไว้
4. นำใบลานใบที 2 มาพับครึ่งแล้วสอดเข้าไปในใบมะพร้าวที่พันไว้ในรอบแรก
5. เสร็จแล้วให้ใช้ใบลานเส้นที่ 2 เส้นล่างสอดช่องใบลานเส้นที่ 1 ห่วงแรก
6. กลับด้านหลังขึ้นมานำใบลานเส้นที่ 2 ปลายด้านล่างสอดช่อง แล้วดึงจัดให้สวยงาม
7. ใช้กรรไกรตกแต่ง ครีบและหาง
8. สานใบลานส่วนที่เป็นองค์ประกอบอื่นๆ เช่น กระโจม กระทงเกลือ ใบไพ เม็ดปักเป้า
และลูกปลานำตัวปลาและเครื่องประกอบอื่นๆระบายสีให้สวยงาม
9. นำลูกปลาเละเครื่องประกอบอื่นๆที่ตกแต่งแล้วมาประกอบกับปลาตัวใหญ่ จะได้ปลาตะเพียนเป็นพวงสวยงาม

ตุ๊กตาเสียกบาล

24 ก.ค.

 การปั้นตุ๊กตาชาวบ้านส่วนใหญ่จะผูกพันถึงเรื่องไสยศาสตร์ ตลอดจนความเชื่อต่างๆ ของชาวบ้าน การปั้นตุ๊กตาดินเผาหรือตุ๊กตาดินเหนียวของไทยในอดีต หรือปัจจุบันก็ยังมีอยู่เพื่อการเซ่นไหว้ การบวงสรวง ตามความเชื่อของท้องถิ่นนั้นๆ เป็นต้นว่า การใช้ตุ๊กตาเป็นตัวแทนศัตรูหรือการทำลายล้างศัตรู ด้วยการใช้เวทมนต์คาถาอาคมเสกเป่า ทำร้ายด้วยการใช้เข็มเสียบตามอวัยวะตุ๊กตาที่เป็นตัวแทนของศัตรู หรือด้วยการหักแขน หักขา ศัตรูเพื่อให้เกิดอันตราย เกิดความเจ็บปวดหรือความตายเกิดขึ้นแก่ฝ่ายตรงกันข้าม
      นอกจากนั้นมีตุ๊กตาอีกชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นตามความเชื่อถือของชาวบ้าน คือ ตุ๊กตาเสียกบาลเป็นตุ๊กตาที่ทำขึ้น เพื่อปัดเป่าอันตรายต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง หรือคนเจ็บป่วย ด้วยการนำเอาดินเหนียวมาปั้นเป็นตุ๊กตาตัวเล็กๆ นั่งพับเพียบ ตุ๊กตาตัวนี้อาจเป็นดินเหนียวธรรมดา หรือดินเผา มีการทำกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ส่วนใหญ่จะพบตุ๊กตาไม่มีหัวจะพบที่สมบูรณ์ก็มีอยู่บ้าง ตามเตาเผาของสุโขทัยบ้าง จึงทำให้เรียกว่า “ตุ๊กตาเสียกบาล” คือ “เสียหัว”

ตุ๊กตาเสียกบาล ส่วนใหญ่ยังคงมีการทำอยู่ตามชาวชนบทหรือตามท้องถิ่น ที่ยังคงมีความเชื่อต่างๆ แฝงอยู่ เช่น ความเชื่อถือทางด้านคาถา, ความเชื่อทางไสยศาสตร์ ซึ่งสะท้อนความเป็นอยู่ของท้องถิ่นซึ่งต้องอาศัยสิ่งอื่นมาช่วยชีวิตของคนให้ดีขึ้น

เรื่องเล่าเกี่ยวกับตุ๊กตาเสียกบาล

เป็นวิธีสะเดาะเคราะห์ตามความเชื่อของคนโบราณ เริ่มจาก เลือกวันเสาร์ ที่ท้องฟ้าแจ่มใส แสงแดดดี
ตอนเช้าให้ปั้นดินเหนียวเป็นตุ๊กตาเพื่อเป็นตัวแทน แล้วตากแดดให้ตุ๊กตาแข็งตัว  รอจนเวลาเย็น พระอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้า ให้เตรียมเครื่องเซ่นแก่เทวดาให้พร้อม จากนั้น เอาตุ๊กตาแนบไว้กับตัวตลอดเวลาที่เดินไป เพื่อจะได้ดูดสิ่งไม่ดีต่างๆออกจากตัว เดินไปถึงที่ ทางสามแพร่ง แล้วนำเอาตุ๊กตาที่เป็นตัวแทนวางลง   จุดธูปเทียนบวงสรวงเทวดา แล้วจึงให้ต่อยหัวตุ๊กตาให้หลุดไป เป็นการแสดงว่าตุ๊กตาได้รับเคราะห์แทน  พิธีนี้ที่จริงเป็นการเลียนแบบมาจากการ ตัดหัวนักโทษในสมัยโบราณ เขาจะทำกันในเวลาพระอาทิตย์ กำลังจะตกดิน ตรงทางสามแพร่ง เพื่อฆ่าให้ตายแล้วก็ถือว่าเป็นการสาปแช่งให้ผู้นั้นลับไป อย่าให้ผุด ให้เกิดอีกเหมือนดวงอาทิตย์ตกดิน จะได้ไม่มาทำความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นอีกต่อไป

เครื่องหิน

24 ก.ค.

                  วัสดุธรรมชาติอีกชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านนำมาทำหัตถกรรมก็คือ หิน ซึ่งมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น หินแกรนิตและหินทราย ซึ่งมีสีต่าง ๆ คือ สีเทา สีเหลือง และสีน้ำตาล หินแกรนิตนั้นเป็นหินที่มีคุณภาพดี ได้มาจากภูเขาในจังหวัดตาก และจังหวัดเลย หินทรายได้มาจากภูเขาในจังหวัดตากและจังหวัดเลย หินทรายได้มาจากจังหวัดนครราชสีมาชาวบ้านจะนำหินมาแกะสลักเพื่อนำมาใช้ประโยชน์หลายประการด้วยกัน เช่น ทำเกี๊ยบ สำหรับประดับตกแต่งฮวงซุ้ยหรือที่ฝังศพ รูปสิงโตนั่งซึ่งส่วนมากใช้ประดับไว้ตรงประตูทางเข้าไปในโบสถ์หรือวิหารต่าง ๆ ครกและโม่สำหรับตำและบดอาหาร ลูกนิมิตและใบเสมา ซึ่งใช้สำหรับปักเขตพระอุโบสถในวัดหรือใช้สำหรับกำหนดเขตวัดหรือที่ของสงฆ์ ลูกนิมิตนั้นมีลักษณะกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ใช้ฝังอยู่ใต้ฐานเสมาโดยรอบ เข้าใจว่าเป็นประเพณีทกมาแต่สมัยอยุธยาตอนปลายลงมา (พ.ศ. ๒๓๐๐) การใช้หินมาทำใบเสมานั้น ก็เพราะมีความคงทนกว่าไม้ ซึ่งผุพังได้ง่าย ส่วนเหล็กและทองแดงนั้นเป็นวัสดุที่มีค่าอาจถูกนำไปหลอมเป็นอย่างอื่นได้ หินที่นิยมใช้ทำกันคือ หินชนวน หินอ่อน และหินทรายขาว ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ใช้หินครกและหินที่ส่งมาจากเมืองจีน ใบเสมาของแต่ละสมัยจะมีขนาดไม่เหมือนกัน ความสำคัญพิเศษของใบเสมาก็คือลวดลายที่จำหลักลงไป ซึ่งแสดงถึงความคิดและรสนิยมของคนในแต่ละสมัย

การแกะสลักหินนั้นจะเริ่มต้นด้วยการสลักหินจากภูเขาตามขนาดที่ต้องการ จะไม่ใช้วิธีระเบิด เพราะจะทำให้หินแตกร้าว นำมาแกะสลักไม่ได้ ต่อจากนั้นจะแต่งผิวหน้าให้เป็นรูปทรงตามต้องการด้วยการสับแต่ง ซึ่งมีอยู่ ๒ ขั้นด้วยกันคือ สับหยาบและสับละเอียด แล้วจึงจะแต่งผิวหุ่น ในกรณีที่ต้องการลวดลายเพิ่มเติมจึงจะลอกลายลงไปในหน้าหินแล้วสกิดด้วยเครื่องมือ ซึ่งมีลักษณะปลายแบนเหมือนขวาน เป็นลวดลายต่อไป สำหรับลูกนิมิตนั้น หุ่นเดิม เป็นรูสี่เหลี่ยมหรือทรงกลม แต่ยังไม่ดีพอ ต้องนำมาทำให้กลมขึ้นอีก ช่างแกะสลักหินหัดใหม่นิยมหัดจากการทำลูกนิมิตก่อน ซึ่งต้องใช้เวลาฝึกฝนประมาณ ๘ เดือน ถึง ๑ ปี เมื่อมีฝีมือดีขึ้นแล้วจึงจะสามารถแกะสลักงานที่มีลวดลายละเอียดได้

เครื่องกระดาษ

24 ก.ค.

เครื่องกระดาษเป็นงานหัตถกรรมชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านสร้างขึ้นเพื่อสนองความต้องการต่าง ๆ กัน คือ เพื่อใช้สอย เช่น สมุดไทย ร่ม ฯลฯ เพื่อประดับตกแต่งในโอกาสต่าง ๆ เช่น สายรุ้ง ธง ฉัตร เพื่อการบันเทิงอารมณ์ เช่น หัวโขน หน้ากาก (กระตั้วแทงเสือ) หัวโต รูปสัตว์ (หมู ช้าง สิงห์) ตุ๊กตา และว่าว เป็นต้น

เครื่องโลหะ

24 ก.ค.

หัตถกรรมเครื่องโลหะ หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากการนำแผ่นโลหะมาเขียนลาย แล้ววางลงบนชันที่ผสม

ด้วยน้ำมันเพื่อรองรับการตีลาย ตอกลาย หรือดุนลาย ด้วยเหล็กขนาดต่างๆ เพื่อให้เกิดความนูนตามลวดลาย

ที่กำหนด แล้วล้างชันออกด้วยน้ำมันก๊าด ขัดลวดลายด้วยกระดาษทรายละเอียดให้เรียบร้อย อาจแต่งสี

หรือรมควัน แล้วนำมาขัดด้วยน้ำยาขัดเงาให้มันวาว สวยงาม อาจประกอบด้วยวัสดุอื่น เช่น ไม้ ผ้า ใช้เป็น

ของประดับตกแต่ง ของที่ระลึก

โลหะ เป็นวัสดุที่ใช้กันมากถัดจากดินหัตถกรรมพื้นบ้านที่ทำกันมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมีทำกันอยู่เกือบทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย นิยมใช้วัสดุหลักอยู่ ๓ ชนิด คือ เหล็ก ทองเหลือง และทองแดง เครื่องเหล็กที่นิยมทำกันนั้น คือ เครื่องใช้ในครัวเรือนและการเกษตร เช่น มีด ขวาน ค้อน เคียว สิ่ว จอบ  เสียม กรรไกรหนีบหมาก และกระดิ่ง ในการทำเครื่องเหล็กเหล่านี้ จะต้องใช้วิธีตีเป็นวิธีหลัก ในการนี้จะต้องนำเอาแท่งเหล็กที่เตรียมเอาไว้มาเผาไฟให้ร้อนจนเป็นสีแดงในเตาเพื่อให้อ่อนตัวแล้วใช้คีมคีบนำมาวางบนทั่งตีด้วยค้อนใหญ่ให้เป็นรูปทรงต่างๆ ตามที่ต้องการ แล้วนำไปเผาอีกครั้งหนึ่งเพื่อจะนำมาตีแต่งให้ได้สัดส่วนตามต้องการ แล้วจึงตกแต่งเป็นครั้งสุดท้ายด้วยการขูดผิวและถูด้วยตะไบเพื่อให้ผิวเรียบหัตถกรรมบางชนิดต้องการความแข็งเป็นพิเศษในบางส่วน ซึ่งต้องนำไปชุบน้ำอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะชุบนั้นจะต้องนำเอาส่วนที่ต้องการให้แข็งเผาไฟให้ร้อนแดงพอประมาณเสียก่อน ในกรณีที่ต้องการความแข็งโดยทั่วไปทั้งหมดของหัตถกรรมนั้นๆ จะต้องนำไปชุบน้ำมัน ส่วนมากใช้น้ำมันเครื่องหรือน้ำมันเตา การชุบทั้งหมดนี้จะต้องอาศัยความรู้และความชำนาญเป็นพิเศษ งานหัตถกรรมจึงจะมีประสิทธิภาพ เครื่องเหล็กโดยเฉพาะมีด ทำกันมากที่ตำบลอรัญญิก อำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา และตำบลบ้านนาอ้อย อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นต้น
          หัตถกรรมที่ใช้ทองเหลืองเป็นวัสดุในการสร้างนั้น ที่นิยมกัน คือ ระฆัง เชิงเทียน ที่ใส่เครื่องกินหมาก เช่น ตะบัน ที่ใส่ใบพลู ถาด และฆ้อง (ฆ้องราวและฆ้องวง) ในการทำสิ่งเหล่านี้ จะต้องนำเอาทองเหลืองมาเผาจนหลอมเหลว แล้วจึงนำไปเทลงในแบบรูปต่างๆ ตามลักษณะที่ต้องการ หลังจากนั้นจึงนำมาตกแต่งให้เรียบร้อย โลหะชนิดสุดท้ายที่จะกล่าวถึง คือ ทองแดง ในการทำหัตถกรรมนั้นจะต้องนำเอาทองแดงมาผสมกับโลหะอีก ๑ หรือ ๒ ชนิด คือ ทองและดีบุก สิ่งที่รู้จักกันดีและชาวบ้านใช้กันแพร่หลาย คือ “ขันลงหิน” ซึ่งทำกันมากที่ตำบลอรัญญิก อำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และบ้านบุ อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ขันลงหินทำด้วยโลหะทองแดงผสมกับดีบุกและเศษทอง นำไปใส่ในเบ้าหลอม ซึ่งทำจากดินผสมแกลบเหมือนอิฐ หมกลงไปในถ่านไฟที่ร้อนจัดจนโลหะทั้งสามอย่างละลายเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วเทลงไปในเบ้าที่มีน้ำหล่ออยู่เป็นแผ่นกลม แล้วเอาไปเผาไฟอีกทีหนึ่ง พอได้ที่แล้วก็ลงมือตีแผ่ โดยใช้ค้อนขนาดใหญ่ตี จนเนื้อทองแข็งตีไม่ออกก็เอากลับสุมถ่านไฟใหม่ พอได้ที่ก็นำเอาออกมาตีอีก ทำเรื่อยไปจนขึ้นเป็นรูปขันตามขนาดที่ต้องการ การตีขันต้องใช้ความชำนาญเป็นพิเศษ ต่อจากนั้นก็นำขันที่ตีเป็นรูปแล้วนั้นมาตีตกแต่งอีกทีหนึ่ง เรียกว่า “ตีลาย” นอกจากนั้นก็ถึงขั้นขัดเงา ซึ่งเรียกว่า “ลงหิน” ในปัจจุบันการขัดด้วยหินได้เปลี่ยนไปเป็นใช้เบ้าแทน โดยทุบเบ้าหลอมให้ละเอียดผสมน้ำแล้วห่อผ้า ใช้ขัดแทนหิน เรียกว่า “เหยียบเบ้า” ถ้าต้องการให้เงามากยิ่งขึ้น ก็นำมาขัดกับเครื่องสมัยใหม่ที่ปั่นด้วยไฟฟ้าทายาแล้วขัดจนเป็นเงาอีกทีหนึ่ง นอกจากขันแล้ว ก็มีสิ่งอื่นอีก เช่น พาน ถาด เชิงเทียน ช้อน มีด ก็ใช้กรรมวิธีเดียวกัน แต่แตกต่างกันที่การตีหรือการหลอมเท่านั้น เครื่องโลหะลงหินไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันเท่าใดนักในปัจจุบัน

เครื่องถม

24 ก.ค.

 

เครื่องถม  เป็นงานศิลปหัตถกรรมประณีตศิลป์  โครงการแรกพร้อมกับการทอผ้าที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินีนาถทรงโปรดให้นำมาสอนเป็นอาชีพเสริมให้กับราษฎรที่ยากจน  ซึ่งเป็นความตั้งพระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะช่วยลดความทุกข์ยากจนของราษฎรให้ลดลง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  จึงทรงสนองพระราชดำริ ทรงเห็นว่าช่างฝีมือทำเครื่องถมแบบโบราณนับวันจะหายากและเมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จเยี่ยมราษฎรทางภาคใต้ ทรงเห็นว่าเครื่องถมที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นงานช่างฝีมือที่ควรอนุรักษ์ส่งเสริม  การจะให้เลี้ยงไหมทอผ้า สภาพสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย  เครื่องถมซึ่งมีชื่อเสียงอยู่แล้ว  ควรจะนำมาส่งเสริมมีครูสอนเพื่อนำไปประกอบอาชีพให้แพร่หลายต่อไปได้  จึงโปรดให้ตั้งแผนกเครื่องถมขึ้นมา และให้นายปลอด เจียรศิริ เป็นครูช่างถมชาวนครศรีธรรมราชมาสอนในแผนกนี้
เครื่องถมเป็นงานศิลปหัตถกรรมประณีตศิลป์ที่เก่าแก่  มีหลักฐานว่าไทยรับการทำเครื่องถมมาจากชาวโปรตุเกส ซึ่งเข้ามาในประเทศไทยทางจังหวัดนครศรีธรรมราช ราวประมาณปี พ.ศ. 2061  เครื่องถมเป็นเครื่องราธูปโภคของพระมหากษัตริย์ไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้โปรดให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจัดหาช่างถมฝีมือดีมาทำเครื่องถมเพื่อส่งไปถวายสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ ประเทศฝรั่งเศส  กล่าวได้ว่าเครื่องถม ยังเป็นเครื่องราชบรรณาการสำคัญที่พระมหากษัตริย์ไทยมักจะถวายให้แก่กษัตริย์ต่างประเทศอีกด้วย
เครื่องถมของไทยทั้งในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ได้ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง  ในกรุงเทพมหานครมีหมู่บ้านชื่อพานถม  ใกล้สะพานเฉลิมวันชาติ ถนนพระสุเมรุ มีอาชีพทำเครื่องถมขายทั้งหมู่บ้าน  หมู่บ้านนี้อพยพมาจากนครศรีธรรมราชในสมัยรัชกาลที่ 1
กรรมวิธีในการทำเครื่องถมมี 5 ขั้นตอนคือ
1. การทำน้ำยาถม  ใช้โลหะ 3 ชนิดคือ  ตะกั่ว  ทองแดง   เงิน  หลอมรวมกันใน   เบ้าหลอมขัดด้วยกำมะถันเหลืองให้โลหะผสมขึ้นสีดำ แล้วนำไปบดจนละเอียดนี้ว่า “น้ำยาถม”  น้ำยาถมที่ดีจะมีสีดำขึ้นเงาเหลือบสีเงิน
2. การเคาะขึ้นรูป  เป็นการเตรียมรูปทรงโลหะ  การเคาะขึ้นรูปจะมีแม่แบบหรือหุ่นขัดผิวโลหะให้เรียบด้วยกระดาษทรายน้ำ
3. การแกะสลัก  การแกะสลักจะเขียนลวดลายทั้งหมดด้วยหมึกก่อน  แล้วจึงสลักลายให้เป็นร่องลึก  บริเวณที่แกะสลักเป็นร่องคือบริเวณที่จะใส่น้ำยาถมลาย  ลายที่นิยมได้แก่  ลายไทย  เช่น  ลายกยก  กระจัง  ดอกไม้
4. การถมลาย  การใส่น้ำยาถมต้องใส่ให้เต็ม  เกลี่ยให้เสมอกัน และเป่าให้ความร้อนด้วยเครื่องเป่าแล่น  ความร้อนจะทำให้น้ำยาที่ถมละลายไหลเกาะติดกับโลหะเงิน
5. ขัดแต่ลาย   ผิวของโลหะเมื่อถูกความร้อน   อาจจะขรุขระหยาบเป็นเม็ดด้วยน้ำยาถมหรือน้ำประสานกระเด็นต้อขัดด้วยกระดาษทรายให้ผิวโลหะเรียบสะอาดแล้วขัดซ้ำด้วยถ่านไม้เนื้ออ่อนให้ผิวขึ้นเงา  หากลวดลายที่ปรากฏแข็งไม่อ่อนช้อยช่างแกะจะแกะต่อเติมลายเส้นเบา ๆ บนโลหะได้อีก เรียกการแกะนี้ว่า  “แกะแร” แล้วขัดให้ขึ้นเงาเป็นมันด้วยผ้านุ่มผสมยาดิน  (วรรณรัตน์  ตั้งเจริญ.  2535 : 54)
การถมหรือเครื่องถม  เป็นวิธีการประดิษฐ์ภาชนะและเครื่องประดับที่เป็นเงินหรือทอง  แต่นิยมใช้กับโลหะที่เป็นเงินมากกว่าโลหะอื่น  เป็นการประดิษฐ์ลวดลายเครื่องประดับหรือภาชนะที่เก่าแก่ของไทย  มีหลักฐานว่ามีการทำเครื่องถมมาตั้งแต่สมัยอยุธยา  ซึ่งตรงกับสมัยของ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  แต่เครื่องถมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก  เป็นเครื่องถมของโรมันซึ่งมีกรรมวิธีในการทำเหมือนของไทย  จึงมีการสันนิษฐานว่าเครื่องถมมาสู่ประเทศไทยได้ 2 ทางคือ  โดยชาวโปรตุเกสซึ่งเข้ามาค้าขายกับไทยในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เช้ามารทางแถบหัวเมืองนครศรีธรรมราช ปัตตานี  มะริด  หรือชาวอินเดียเป็นผู้นำเข้ามา  เพราะมีการติดต่อค้าขายกับอินเดียที่นครศรีธรรมราช และเครื่องถมก็กำเนิดที่นครศรีธรรมราชเป็นแห่งแรก  ในปัจจุบันเครื่องถมนครศรีธรรมราชยังคงมีความสวยงามคงความเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะไทยไว้  และเป็นเครื่องถมที่มีชื่อเสียงมาก เครื่องถมนครฯ  มีทั้งถมดำและถมทอง
สำหรับการทำถมทองนั้นจะแตกต่างกับถมอื่นคือ  ถมทองจะใช้ทั้งโลหะที่เป็นเงินและทองคำบริสุทธิ์ผสมกัน  โดยใช้ทองคำบริสุทธิ์หลอมละลาย  แล้วทาเคลือบลงบนเนื้อโลหะเงิน    แต้มเฉพาะที่เป็นลวดลาย  เป็นการแต่งตัวลายให้เกิดความสวยงาม   แต่ทองคำที่ใช้ต้องเคลือบหลายชั้น เพื่อให้ทองติดหนานพอสมควรเรียกเครื่องถมนี้ว่า “ถมตะทอง” หรือ “ถมทอง”
อ่อนการทำถมทอง รีดทองคำบริสุทธิ์ให้เป็นแผ่นบาง ตัดเป็นฝอยเล็ก ๆ และบดจนเป็นผง  ผสมกับปรอท  กวนให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว เรียกว่า  “ทองเปียก”  แล้วนำวัตถุที่จะแตะทองมาทำความสะอาดให้หมดความเค็ม  ด้วยน้ำส้มมะขามหรือน้ำมะนาว   เช็ดทำความสะอาดแล้ว ตะทองบริเวณลวดลายที่ต้องการตกแต่ง  เมื่อถูกความร้อนปรอทจะระเหย  เหลือแต่ทองคำที่แตะแต่งไว้ตามลาย  ต้องทำซ้ำกันเช่นนี้หลายครั้ง  จนได้ความหนาตามต้องการ  การถมทองเป็นการเคลือบลายภาชนะเงิน  ให้ได้ลวดลายที่มีความงดงามและสีสันแตกต่างไปจากถมสีดำ  การทำเครื่องถมในปัจจุบันนิยมใช้กรดกัดให้เป็นลวดลายแทนสลักด้วยมือทำให้ได้ผลงานหยาบไม่สวยงามประณีตละเอียดอ่อน
การทำเครื่องถมของไทยนอกจากวิธีแกะลายลงบนโลหะให้เป็นร่องลึก  เพื่อถมยาถมให้เต็มตามลวดลายที่แกะซึ่งวิธีแกะลายให้เป็นร่องเป็นการทำเครื่องถมแบบโบราณดั้งเดิม  ปัจจุบันมีการทำลวดลายเครื่องถม  โดยการใช้กรดกัดตามลวดลายที่เขียนไว้  วิธีทำคือใช้น้ำยากันบริเวณที่ไม่ต้องการให้กรดกัด  ส่วนบริเวณที่เป็นลายต้องการให้เป็นร่องลึก  ไม่ต้องทาน้ำยา  บริเวณกรดจะกัดเป็นร่องลึก  ข้อดีของการทำเครื่องถมชนิดใช้กรดกัดคือ  ได้ลวดลายที่ซับซ้อนละเอียดกว่าการใช้เครื่องมือแกะลายสามารถทำได้จำนวนมาก และใช้เวลาการทำไม่นาน  ซึ่งเครื่องถามแบบใช้กรดกัดนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก     ได้ทรงคิดขึ้นจึงเรียกการทำเครื่องถมแบบนี้ว่า  ถมจุฑาธุช

    คำว่า “ถมจุฑาธุช”  เป็นชื่อเครื่องถมที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลกได้ทรงคิดพัฒนาให้มีกระบวนการที่เร็วขึ้นและทรงประสิทธิภาพสูงขึ้น  โดยนำวิธีการเขียนลวดลายและวิธีการถ่ายภาพมาประยุกต์ใช้ในการทำเครื่องถม  แทนวิธีการสลักลวดลายแบบโบราณ ซึ่งทำได้ช้าเพราะต้องผ่านหลายขั้นตอน นอกจากนั้น เมื่อนำ       ขั้นตอนของการสลักลวดลายแบบโบราณมาใช้  ก็ไม่สามารถพลิกแพลงทำรูปทรงที่ยาก ๆ ได้  เพราะจะทำให้เสียรูปทรงและจะประกอบให้เหมือนเดิมได้ยาก  ทั้งยังเสียเวลามากด้วย   กรรมวิธีในการผลิตเครื่องถมจุฑาธุชมีวิธีการดังต่อไปนี้
    1.  วิธีการทำเครื่องถมโดยการเขียนลวดลายแล้วกัดกรด
    2.  วิธีการทำเครื่องถมโดยการถ่ายแบบลวดลายที่กัดกรดแล้ว
    2.1 การถ่ายแบบลวดลายลงในแผ่นกระจก  โดยอาศัยน้ำยาโคโลเลียน (ใช้ในยุคที่การถ่ายภาพยังไม่เจริญ)
    2.2 การถ่ายแบบลวดลายลงบนแผ่นฟิล์ม  ซึ่งยังมีใช้อยู่ในปัจจุบันขั้นตอนและวิธีการดังกล่าว  ที่พระองค์ท่านได้ทรงคิดค้นขึ้นมานี้  ทำให้วงการทำเครื่องถมไทยสามารถพัฒนางานได้รวดเร็วและตัดขั้นตอนในการทำเครื่องถมไปถึง 4 ขั้นตอน  (จากการทำเครื่องถมแบบโบราณ)  การที่พระองค์ท่านทรงนำเอาวิธีการดังกล่าวมาเผยแพร่นี้  นอกจากได้ประโยชน์ในเชิงวิชาการแล้ว  ยังส่งผลให้เครื่องถมนั้นมีแพร่หลายในหมู่ผู้ใช้มากขึ้น  และเจริญก้าวหน้าสืบทอดมาเป็นมรดกของชาติจนถึงปัจจุบันอีกด้วย  เป็นที่รู้จักกันทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลกว่า  ถ้าเป็นถมลักษณะอย่างนี้ต้องเป็นถมจุฑาธุช  ซึ่งเรียกตามพระนามของท่านผู้คิดค้นนั่นเอง
    ลักษณะของถมจุฑาธุชมีข้อสังเกตได้ดังนี้ด้านหลังของลวดลายจะเป็นพื้นเรียบสวยงาม
    1. ลวดลายจะทำได้ละเอียดมาก และคมชัด
    2. ลักษณะของรูปทรงจะเรียบร้อยสวยงาม
    3. โดยทั่วไปแล้วจะมีแต่ถมสีเงิน (ถมดำ) เท่านั้น   ไม่นิยมทาทองเพราะพื้นถมจะหลุดง่าย
    4. ใช้วิธีแต่งลายโดยวิธีแกะแร  เพราะจะป้องกันการกระเทาะของพื้นถมพื้นถมนั้นจะไม่มีตรามด  เพราะพื้นลวดลายที่เกิดจาการกัดกรดจะลึกและเรียบเท่ากันหมด
    5. สามารถทำเป็นรูปแบบเครื่องถมยาก ๆ ได้ทุกรูปแบบ
    6. สามารถผลิตเครื่องถมที่เหมือนกันได้เป็นจำนวนมาก
    7. เนื้อวัสดุที่เกิดจากการกัดกรดรูปพรรณ  และแต่งลวดลายรูปพรรณจะหลุดหายไป   (มนตรี  จันทพันธ์.  2535 : 246 – 247)
การทำเครื่องถมของศูนย์ศิลปาชีพเป็นการทำเครื่องถมแบบโบราณของจังวัดนครศรีธรรมราช  ที่เรียกว่า  “เครื่องถมนคร” ใช้เครื่องมือแกะสลักลวดลาย มีคุณค่าของงาน    ฝีมือ  มีความประณีตสวยงาม  สอนทั้งการทำถมดำและถมทอง  ใช้โลหะที่เป็นโครงคือโลหะเงินเป็นหลัก  ซึ่งเป็นเงิน 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ใช่เงินผสม  มีคุณค่าของงานฝีมือตั้งแต่การเคาะขึ้น  รูปแกะสลักลวดลายและการถมลาย ลวดลายทั้งหมดเป็นลายไทยแบบโบราณ ใช้วิธีแกะเพลารายหรือแกะแรให้ลวดลายอ่อนช้อยเด่นชัด บางชิ้นตกแต่งฝาตลับบริเวณที่เปิดปิดด้วยการฝังอัญมณี  เช่น พลอยขาว หรือเพชรให้มีความสวยงามและมีคุณค่ายิ่งขึ้น  ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ที่แปลกไปจากรูปแบบเดิมที่เคยมีมาในอดีต

    การทำเครื่องถมในปัจจุบัน นิยมใช้กรดกัดให้เป็นลวดลายแทนการแกะสลักด้วยมือ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชยังคงใช้วิธีทำเครื่องถมแบบเดิมอยู่  อันเป็นการรักษากรรมวิธีและคุณภาพของศิลปะพื้นบ้านไว้เป็นอย่างดี…จากหลักฐานเชื่อว่าจังหวัด     นครศรีธรรมราชมีชื่อเสียงมาก จนเรียกว่า”เครื่องถมนครฯ”  เพราะนครศรีธรรมราช  ทำเครื่องถมอย่างประณีตสวยงาม…เครื่องถมนครมีทั้งแบบถมดำและถมทอง มีตั้งแต่เครื่องประดับชิ้นเล็ก  เช่น  แหวน  กำไล  เข็มกลัดติดเสื้อไปจนถึงชิ้นใหญ่เช่น พานขันโตก ถาด ทำด้วยโลหะเงินแท้ ลวดลายสวยงามแบบลายไทย  ลวดลายเกิดจากการแกะสลักด้วยมือ  น้ำยาถมในช่องลายสีดำสนิทเรียบเสมอกัน ไม่มีตามดหรือปุ่มก้อนทั้งรูปทรงของเครื่องใช้และเครื่องประดับยังคงรักษา   เอกลักษณ์แบบดั้งเดิมไว้เป็นอย่างดียิ่ง    เครื่องถมอีกชนิดหนึ่งซึ่งใช้ทองคำบริสุทธิ์หลอมละลายแล้วทาเคลือบลงบนเนื้อเงินแต้มเฉพาะที่เป็นตัวลายเป็นการแต่งตัวลายให้เกิดความสวยงาม แต่ทองที่ใช้ต้องเคลือบหลายชั้น  เพื่อให้ทองติดหนา พอสมควร  เรียกเครื่องถมนี้ว่า “ถมตะทอง” หรือถมทอง  การทำถมทอง  รีดทองคำบริสุทธิ์ให้เป็นแผ่นบาง  ตัดเป็นฝอยเล็ก ๆ และบดให้เป็นผงผสมกับปรอทกวนให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว   เรียกว่า  “ทองเปียก” แล้วนำวัตถุที่จะตะทองมาทำความสะอาดให้หมด ความเค็มด้วยน้ำส้มมะขามหรือน้ำมะนาวเช็ดทำความสะอาดแล้ว ตะทองหรือแตะทองบริเวณลวดลายที่ต้องการตกแต่ง เมื่อถูกความร้อนปรอทจะระเหยเหลือแต่ทองคำที่แตะแต่งไว้ตามลาย ต้องทำซ้ำกันเช่นนี้หลายครั้งจนได้ความหนาตามต้องการ   แล้วตกแต่งลายแกะแรเพื่อให้ลวดลายชัดเจนยิ่งขึ้น  การถมทองเป็นการเคลือบลายภาชนะเงินให้ได้ลวดลายที่มีความงดงาม และสีสันแตกต่างไปจากถมสีดำ  การถมทองมีความคงทนกว่าการชุบทองและยังมีความประณีตสวยงามอีกด้วย     แต่ถมทองก็มีราคาสูงตามคุณค่าของวัสดุคือทอง   (วรรณรัตน์  อินทร์อ่ำ. 2535 : 54 – 56)

    สาเหตุที่โปรดฯ ให้ตั้งแผนกถมขึ้นมา   ก็เนื่องจากคราวที่เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรมที่ตำแหนักทักษิณราชนิเวศน์   จังหวัดนราธิวาส   ในปี พ.ศ. 2522  ขณะนั้นที่นิคมพัฒนาภาคใต้ซึ่งตั้งอยู่ที่กิ่งอำเภอขิริน  จังหวัดนราธิวาส  มีราษฎรจากอีสานไปอยู่มาก  พราะมีความต้องการที่อยู่อาศัยและที่ทำมาหากินทางราชการ   จึงให้สิ่งของที่จำเป็นเช่น  ข้าวและอุปกรณ์เครื่องใช้ และจ่ายเงินให้ชาวบ้านเป็นรายเดือนแต่ไม่มากนัก  ทั้งครอบครัวชาวอีสานที่อพยพมาตั้งแต่ไม่มากนัก    ทั้งครอบครัวชาวอีสานที่อพยพมานั้นต่างก็มีบุตรหลายคน  ชีวิตความเป็นอยู่จึงลำบากยากแค้น…จึงทรงให้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกันที่ภาคใต้ซึ่งไม่เคยทำเช่นนี้มาก่อน  แต่เนื่องจากสภาพภูมอากาศไม่เอื้ออำนวยกับการเลี้ยง  จึงไม่ประสบความสำเร็จ  เพราะแม้หม่อนจะมีใบงามแต่ไหมก็เป็นโรค และพอถึงขั้นตอนสาวไหมก็สาวไม่ค่อยออก…ก็ทรงมีพระราชดำริว่า  งานถมนั้นเป็นงานประณีตศิลป์ที่เก่าแก่ของไทย  ในพระบรมราชวังก็มีภาชนะที่ทรงใช้อยู่เป็นเครื่องถมทอง และถมตะทอง  รวมทั้งเครื่องลงยาราชาวดีต่าง ๆ และในส่วนพระองค์เองก็โปรดที่จะใช้เครื่องถมเป็นของพระราชทานแขกชาวต่างประเทศ  แต่เนื่องจากนานวันเข้า  ต้นทุนในการผลิตขยับสูงขึ้นเรื่อย ๆ  ส่วนช่างฝีมือนับวันจะลดน้อยถอยลง  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถจึงทรงมีราชดำริว่า  วิชาช่างถมนี้กำลังจะเสื่อมลงทุกที  แหล่งเครื่องถมที่จะทำก็มีเพียงแหล่งเดียวเท่านั้นคือ  ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช  ที่ยังรักษาวิชาของเขาไว้ได้หลายอย่าง…ดังนั้นพระองค์จึงโปรดฯให้ขอครูช่างถมจากนครศรีธรรมราชมาสอนวิชานี้  ให้กับนักเรียนศิลปาชีพ   โดยสอนกันเป็นรุ่นแรกที่จังหวัดนราธิวาส  จากนั้นก็นำนักเรียนที่ นราธิวาสเองกับนักเรียนที่มาจากครอบครัวชาวอีสานมาเรียนกันที่สวนจิตรลดา  พระราชวังดุสิต และยึดเอาเต้นท์ที่ฝึกทอผ้าเป็นที่เรียนด้วยกัน ด้วยเหตุนี้   จึงถือกันว่าแผนกทอผ้าไหมกับแผนกถมนี้  เริ่มกันที่นี่ก่อนแผนกอื่น  (กองวรรณคดีและ   ประวัติศาสตร์. 2537 : 16 – 16)

 

    เครื่องถมเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจากความคิดของช่างไทยมาแต่โบราณ ที่พยายามจะหาวิธีการตกแต่งประดับเครื่องใช้และภาชนะต่าง ๆ   ให้สวยงาม  โดยอาศัยเนื้อเงินเป็นหลัก และใช้ตัวยาซึ่งเป็นโลหะผสมช่วยเป็นสีสันตัดให้เกิดลวดลายเด่นชัด  ทั้งการทำเครื่องถมและเครื่องลงยามีกรรมวิธีที่คล้ายคลึงกันและเกิดขึ้นโดยฝีมือของช่างไทย  ซึ่งสันนิษฐานกันว่างานช่างทั้งสองอย่างนี้มีทำกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น และทำกันสืบต่อมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน หากแต่การช่างทั้งสองชนิดนี้ได้ลดจำนวนลงไปมาก    ยังมีทำกันอยู่เพียงบางที่บางแห่งเท่านั้น   เช่น เครื่องถมนคร  หรือเครื่องถมนครศรีธรรมราชเป็นต้น…เครื่องถม  ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า niello และในเอ็นไซโคฟีเดียบริแตนิกาอธิบายว่าเป็นคำอิตาลี มาจากคำภาษาลาตินว่า ingellum แผลงมาจากคำว่า niger  ซึ่งแปลว่า คำและความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทำเครื่องถมในตะวันตก  กล่าวกันว่านำมาจากตำราของอีแรคสิอุส  ชาวโรมัน  และเท่าที่ค้นพบเครื่องถมที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเป็นชาวของโรมัน และเท่าที่ค้นพบเครื่องถมที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเป็นของชาวโรมันซึ่งประมาณกันว่ามีมาก่อนสร้างกรุงโรม  ส่วนเครื่องถมของชาวตะวันตกที่เข้ามาสู่ประเทศไทยนั้น  มีผู้ให้ความเห็นว่ามาจากชาวโปรตุเกสคือ  พระเจ้ามานุเอลแห่งโปรตุเกส  ซึ่งส่งทูตมาเจริญทางพระราชไมตรีกับไทยในสมัยสมเด็จพระรามาอันอับที่ 2 และได้ทรงอนุญาตให้ชาวโปรดตุเกสเข้ามาทำการค้าครั้งแรกในพระราชอาณาจักรไทยตามหัวเมืองใหญ่  4  หัวเมือง  คือนครศรีธรรมราช  ปัตตานี  ปะริด และกรุงศรีอยุธยา  ซึ่งทำให้คนไทยรับเอาขนบประเพณีและศิลปวิทยาหลายอย่างมาจากชาวโปรตุเกสโดยเฉพาะที่เมืองนครศรีธรรมราชได้รับเอาวิธีการทำเครื่องถมได้ และต่อมาวิธีการทำเครื่องถมก็ได้แพร่หลายเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา จนมีอยู่ครั้งหนึ่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  โปรดเกล้าให้ทำไม้กางเขนส่งไปถวายสันตปาปาที่กรุงโรม    ก็ได้รับสั่งให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชหาช่างถมที่ฝีมือเข้ามาทำ  แสดงว่าเมืองนครศรีธรรมราช  เป็นศูนย์กลางของการทำถม  (วิบูลย์  ลี้สุวรรณ.  2525 : 101)
    วรรณรัตน์  อินทร์อ่ำ  กล่าวถึง  งานเครื่องถมไว้ความว่า
    เครื่องถม คือภาชนะ  เครื่องใช้  เครื่องประดับตกแต่ง  ซึ่งแกะสลักผิวโลหะเป็นเงิน  หรือทอง  แล้วใส่ผงโลหะผสมคือ  ตะกั่ว  ทองแดง และเงิน  หลอมรวมกันแล้วนำไปบดละเอียด  ใส่น้ำประสานทอง และโรยแทรกลงไปในลายโลหะที่แกะหลอมละลายด้วยความร้อน โลหะผสมที่แทรกลงไปจะละลายเป็นสีดำถมลายที่แกะจนเต็ม  เครื่องถมนิยมทำกับโลหะที่เป็นเงินมากกว่าโลหะอื่น   ถ้าจะนำโลหะอื่นมาทำจะชุบให้เป็นสีเงินเสียก่อน  แต่ความคงทนไม่เหมือนโลหะที่เป็นเงินแท้  เครื่องถมที่ทำอยู่มี  2  ชนิดคือ  เครื่องถมดำกับเครื่องถมทอง  การทำเครื่องถมของไทย  มีหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา  ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  แต่มีหลักฐานว่า  ศิลปะเครื่องถมของโรมันเป็นเครื่องถมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก    มีกรรมวิธีในการทำคล้าย  เครื่องถมของไทย  จึงมีการสันนิษฐานกันว่าเครื่องถมมาสู่ประเทศไทยได้ 2 ทางคือ   โดยชาวโปรตุเกสซึ่งเข้ามาค้าขายกับไทยในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2  ซึ่งเข้ามาอยู่ทางแถบหัวเมืองนครศรีธรรมราช  ปัตตานี  มะริด หรือชาวอินเดียเป็น ผู้นำเข้ามาเพราะมีการติดต่อค้าขายกับอินเดียที่นครศรีธรรมราช  และเครื่องถม  มีกำเนิดที่นครศรีธรรมราชเป็นแห่งแรก   (วรรณรัตน์   อินทร์อ่ำ.  2535 : 53)

เครื่องเงิน

24 ก.ค.

เงิน  คือธาตุชนิดหนึ่ง  เป็นโลหะสีขาวมีลักษณะแข็ง สามารถตีแผ่เป็นแผ่นหนาบาง หรือเปลี่ยนรูปทรง และหลอมละลายให้อ่อนตัวได้  มีราคารองลงมาจากธาตุทองคำ  เงินพบในธรรมชาติทั่วไป มีทั้งชนิดก้อนและชนิดผงที่ปนอยู่ในทราย  มนุษย์รู้จักนำเงินมาใช้ประโยชน์นานพอกับการนำทองคำมาใช้ การทำเครื่องเงินของไทยมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยโดยเฉพาะเครื่องประดับเงินในสมัยอยุธยาเป็นเครื่องประดับสำหรับชนชั้นกลางและเด็กต่างกับเครื่องประดับทองซึ่งเป็นเครื่องประดับของชนชั้นสูง เช่นกษัตริย์หรือความดีมียศศักดิ์แต่เครื่องเงินที่เป็นภาชนะใส่ของเป็นของใช้สำหรับชนชั้นสูงเช่นกัน โดยเฉพาะเจ้าเมืองทางเหนือของประเทศไทย นิยมใช้ภาชนะเครื่องเงิน  การทำเครื่องเงินของชาวเหนือ  ในอดีตเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านทำ ใช้เฉพาะในครอบครัว ต่อมาได้แพร่หลายทำกันอย่างกว้างขวาง เงิน 100% คือ โลหะเงินล้วนไม่ผสมกับโลหะอื่นใด  มีความอ่อนตัวสูง เงิน 90%  คือเงินผสมโลหะอื่น  มีความแข้งกว่าเงิน  100% นิยมใช้ทำเครื่องประดับหรือภาชนะใส่ของที่ต้องการ ความแข็งแรงกว่าเงิน 100%   นิยมใช้ทำเครื่องประดับหรือภาชนะใส่ของที่ต้องการความแข็งแรง  เช่น  กำไลข้อมือ เข็มขัด กล่องใส่บุหรี่  ถาด พาน  (วรรณรัตน์  อินทร์อ่ำ, 2535 : 48)

กลวิธีการทำเครื่องเงินสามารถแยกได้ดังนี้คือ

การหุ้ม หมายถึง  การตีหรือรีดเงินเป็นแผ่นบาง ๆ แล้วนำมาหุ้มหรือคลุม
1. วัตถุสิ่งของต่าง ๆ ให้เหมือนว่าวัตถุนั้นทำด้วยเงินทั้งหมด  การเลี่ยมคือวิธีหุ้มอย่างหนึ่ง แต่หุ้มเฉพาะขอบ  เช่น  เลี่ยมพระ  เลี่ยมขอบภาชนะเป็นต้น
2. การหล่อหมายถึง   การทำแม่พิมพ์   แล้วนำโลหะเงินที่หลอมละลายเทลงในแม่พิมพ์ให้เป็นรูปและลวดลายตามแม่พิมพ์นั้น
3. การดุน หมายถึงการตีหรือรีดแผ่นเงินให้เป็นแผ่นบาง ๆ แล้วใช้เครื่องมือกดบนผิวหน้าโลหะให้เกิดเป็นรอยลวดลายเรียกว่า  ลายดุนหรือรูปดุน
4. การแกะลาย  หมายถึงการทำลวดลายโดยใช้วัตถุมีคม  เช่น  สิ่ว  แกะให้เกิดเป็นลวดลาย  ลวดลายที่ได้จากการแกะสลักลายนูน  ภาชนะเครื่องเงินของจังหวัดเชียงใหม่   นิยมทำลวดลายนูนมากกว่ากลวิธีอื่น
5. กะไหล่  หมายถึงการเคลือบสิ่งที่เป็นโลหะด้วยเงินหรือทอง โดยการหลอมละลายให้โลหะเงินหรือทองเหลว  แล้วนำไปทาหรือเคลือบให้ติดบนโลหะอื่น
6. การคร่ำ  หมายถึงการเอาเงินฝังเป็นลวดลายในโลหะเทคนิคการคร่ำมีทั้งโลหะที่เป็นเงินและทองคำ  เรียกว่า คร่ำเงินและคร่ำทอง  นิยมทำกับภาชนะมีคม  เช่น  ด้ามมีดหรือปักมีดในสมัยโบราณลวดลายที่นำมาใช้ประกอบกับเครื่องเงิน นิยมประยุกต์จากศิลปะไทย  เช่น ลายกระจัง ลายกนก เทคนิคในการทำเครื่องประดับเงินเหมือนกับการทำเครื่องประดับทอง ช่างทำเครื่องประดับเงินได้จะทำเครื่องประดับทองได้เช่นกัน แต่ก็มักจะแยกช่างประจำเครื่องประดับเงิน  เครื่องประดับทองไม่ปะปนกัน  เพราะช่างทองจะเป็นช่างที่มีความประณีตมากกว่าช่างเงิน   (วรรณรัตน์    อินทร์อ่ำ.  2535 : 48 – 49)
การทำเครื่องเงินของศูนย์ศิลปาชีพ เป็นการทำแบบเคาะขึ้นรูป แบบหล่อ ตกแต่งด้วยการแกะลาย และแบบสานด้วยเส้นเงิน เป็นวิธีการสานเช่นเดียวกับการสานด้วยหวายหรือไม้ไผ่  เป็นกระบวนการผลิตแบบพื้นบ้านของชาวนาซึ่งเป็นการผลิต โดยการใช้เครื่องมืออย่างง่ายที่หาได้ในท้องถิ่น  ใช้อุปกรณ์ที่เคยใช้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ เช่น อุปกรณ์สำหรับการทุบเคาะขึ้นรูป  ใช้ค้อนเหล็ก  ค้อนไม้  แท่นเหล็ก  อุปกรณ์สำหรับแกะลาย  ใช้สิ่ว  ลิ่มตอกด้วยค้อน  การแกะลายจะทำหลังจากทุบเคาะขึ้นเป็นรูปทรง  เห็นโครงสร้างของผลิตภัณฑ์แล้ว เช่นขันน้ำ ถาดเครื่องเงินของศูนย์ศิลปาชีพมีลักษณะพิเศษกว่าเครื่องเงินโดยทั่วไปคือ เป็นรูปสัตว์ลอยตัว มีทั้งวิธีการตกแต่งแกะเป็นลวดลาย  เน้นความละเอียดของลายมีความประณีตที่ขนสัตว์  มีทั้งวิธีบัดกรีต่อประกอบและการฝังอัญมณีซึ่งเป็นการผลิตเครื่องเงินที่เน้นทั้งคุณภาพและความสวยงาม     ช่างที่ผลิตต้องเป็นช่างเงินที่มีความชำนาญสูงจึงสามารถทำได้